ประวัติวิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย
ประวัติความเป็นมา
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาของพระภิกษุสามเณรโดยตรง ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง ในมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขยายเขตการศึกษามาจาก มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยเป็นวิทยาเขตแห่งแรกของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ระหว่างกิโลเมตรที่ 73-74 สายกรุงเทพมหานคร – สระบุรี ภายในวัดชูจิตธรรมาราม พระอารามหลวง เลขที่ 57 หมู่ที่ 1 ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13170 หมายเลขโทรศัพท์ที่จะติดต่อ วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย 035-745037 โทรสาร 035-745038
จากพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายีมหาเถร) วัดมกุฏกษัตริยาราม ว่า “ความสำคัญของการศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบันนี้ จะต้องอนุวัติให้ทันกับความเจริญของโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มีพระประสงค์ที่จะขยายการศึกษาของคณะสงฆ์ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ.2513-2514 ได้ทรงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งทำหน้าที่ร่างหลักสูตร พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา และประกาศใช้เป็นหลักสูตรหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2514 สมัย ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อกระทรวงประกาศใช้หลักสูตรแล้ว พระองค์ท่านได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแห่งแรกขึ้นชื่อว่า โรงเรียนวชิรมกุฏ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหลังวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานครเป็นสาขาแห่งหนึ่งของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย โดยใช้หลักสูตร พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2514
ในปีเดียวกันนี้ นายฉบับ คุณนายสงวน ชูจิตตารมย์ ได้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินจำนวน 186 ไร่ ที่ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ต่อมาได้มีผู้บริจาคซื้อถวายเพิ่มเติมเป็น 736 ไร่) ให้เป็นที่ตั้งสถานศึกษาของคณะสงฆ์ขยายการศึกษาออกไปสู่ชนบทและเปิดทำการสอนพระภิกษุสามเณรขึ้นได้ทรงวางวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันสงฆ์แห่งนี้ไว้ 6 ประการ คือ :-
1. เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์
2. เพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร
3. เพื่อเป็นสถานที่พักอาศัยเล่าเรียนวิชาการทางพระพุทธศาสนาของชาวต่างประเทศ
4. เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการชั้นสูงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
5. เพื่อเป็นสถานที่อบรมในด้านการปฏิบัติธรรม
6. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาฝึกอบรมพระภิกษุผู้จะปฏิบัติศาสนกิจในระดับสูง เช่น งานด้านการปกครองการเผยแผ่ การสาธารณูปการ เป็นต้น
ขณะที่ทรงเตรียมการจะดำเนินงานภายหลังชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จสิ้นแล้วแต่พระดำริดังกล่าวยังไม่ทันสัมฤทธิ์ผล พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2514
ต่อมาปี พ.ศ.2516 พระเถรานุเถระผู้มีบทบาทในการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติหลายรูป เช่น
1. สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ วัดบวรนิเวศวิหาร
2. สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) วัดเทพศิรินทราวาส
3. สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม
4. พระเทพเมธาจารย์ (สุวรรณ กญฺจโน) วัดมกุฏกษัตริยาราม
5. พระธรรมวราจารย์ (แบน กิตฺติสาโร) วัดบวรนิเวศวิหาร
6. พระราชธรรมเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) วัดธรรมมงคล
7. พระเทพปัญญากวี (บรรจง กลฺลิโต) วัดมกุฏกษัตริยาราม
โดยร่วมกันก่อตั้งสถาบันสงฆ์แห่งนี้ขึ้น เริ่มแรกใช้ชื่อว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สาขาวังน้อย เป็นที่รู้จักกันของประชาชนโดยทั่วไปว่า “วิทยาลัยสงฆ์วังน้อย” ในปี พ.ศ. 2519 ได้ขอตั้งเป็นวัดชื่อ “วัดชูจิตธรรมาราม” เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์สกุลชูจิตารมย์ผู้ถวายที่ดินเพื่อการก่อตั้งครั้งแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระนามาภิไธยในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฏราชกุมารว่า“มหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย” และทรงพระราชทานพระนามาภิไธยย่อว่า“ม.ว.ก.” ภายใต้สีมาธรรมจักรพร้อมทั้งพระราชทานสุภาษิตว่า “วชิรูปมจิตฺโต สิยา” (พึงเป็นผู้มีจิตแกร่งประดุจเพชร) ให้เป็นตราประจำวิทยาลัย
ด้านการศึกษา
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาคือหลักสูตรศาสนบัณฑิตใช้อักษรย่อว่า ศน.บ. โดยใช้ระบบการจัดการศึกษาตามหลักสูตร ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย ได้เปิดการเรียนการสอนตามลำดับดังต่อไปนี้
ในปี 2526 ได้เปิดสอนวิชาศาสนาบังคับและวิชาพื้นฐานทั่วไป ใน 2 ระดับชั้นคือ ศาสนศาสตร์ปีที่ 1 และปีที่ 2 ส่วนชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 ต้องเข้าไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ (รุ่นที่ 4 ) เป็นรุ่นสุดท้ายที่เข้าไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กรุงเทพฯ
ในปี 2531 เปิดการเรียนการสอน 2 สาขาวิชาคือสาขาวิชาภาษาอังกฤษ (คณะมนุษยศาสตร์) และสาขาวิชาสังคมวิทยา (คณะสังคมศาสตร์) ในปี 2534 เปิดการเรียนการสอนเพิ่มอีก 1 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาการภาษาอังกฤษ (คณะศึกษาศาสตร์) ในปี 2542 เปิดการเรียนการสอนเพิ่ม 1 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาปรัชญา (คณะศาสนาและปรัชญา) และในปี 2545 เปิดการสอนเพิ่มอีก 1 สาขาวิชา คือสาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง (คณะสังคมศาสตร์)
ในปี 2549 วิทยาเขตได้ขออนุมัติเปิดโครงการบัณฑิตศึกษา ได้เปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งได้เปิดการเรียนการสอน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา, สาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง และสาขาวิชาการจัดการศึกษา (บริหารการศึกษาในปัจจุบัน)
ปัจจุบันในระดับปริญญาตรีมีการเรียนการสอน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (คณะศึกษาศาสตร์) สาขาวิชาการปกครอง (คณะสังคมศาสตร์) และสาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและวัฒนธรรม (คณะศาสนาและปรัชญา)
ปรัชญา/ปณิธาน วิสัยทัศน์และพันธกิจ
ปรัชญา/ปณิธาน
ความเพียรเลิศ อดทนเยี่ยม เปี่ยมกตัญญู รู้สัจจะ
วัตถุประสงค์หลัก (Objectives)
- ผลิตบัณฑิตพระภิกษุ/สามเณรให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อจรรโลง พระพุทธศาสนาในระดับชาติและนานาชาติ
- ผลิตบัณฑิตคฤหัสถ์ทุกคน ให้เป็นคนดี คือ คิดดี พูดดี และทำดีตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา
- บริการวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาแก่สังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นประจักษ์ชัดเจนต่อสังคมไทยและสังคมโลก
- ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำเพื่อสร้างสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งทางสังคมศาสตร์และมีคุณภาพทั้งด้านความรู้และความประพฤติ
- ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา การเรียนรู้และเป็นศูนย์กลางทางวิชาการพระพุทธศาสนาเถรวาท
- ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งสมานฉันท์ความเอื้ออาทรต่อกันและความสามัคคีโดยใช้หลักสาราณียธรรมและพรหมวิหารธรรม
- สร้างระบบการบริหารองค์การให้เป็นองค์การที่มีลักษณะของความเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาและมีมาตรฐานระดับสากล
วิสัยทัศน์
เป็นสถานศึกษาและปฏิบัติ มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ฝึกอบรมปฏิบัติจิตภาวนา ส่งเสริมและให้บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
พันธกิจ
มุ่งจะผลิตบุคลากรทางพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยความรู้ดีทั้งทางธรรมและทางโลก ความสามารถดีในการคิด พูด ทำ มีคุณธรรมและจริยธรรมประจำใจ สามารถควบคุมกายวาจาใจให้สงบเย็นมีอุดมคติและมีอุดมการณ์มุ่งอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม
เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย และ อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย
1) อัตลักษณ์
บัณฑิตมีความรอบรู้ในหลักพระพุทธศาสนาและสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่สังคมในระดับชาติและนานาชาติ
2) เอกลักษณ์
บริการทางวิชาการพระพุทธศาสนาแก่สังคมในระดับชาติและนานาชาติ